เมื่ออายุเป็นเพียงตัวเลขและความสุขของการทำในสิ่งที่รักเป็นเรื่องสามัญ

ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย มีงานอดิเรกมาทำให้ชีวิตช่วงหลัง 60 ปีเป็นเรื่องน่าสนุกมากขึ้น การที่คุณลุงคุณป้าคุณย่าคุณยาย ได้ทำงานที่ตัวเองรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่นั้น ก็ทำให้ท่านมีอายุยืนยาว เป็นมิ่งขวัญของลูกหลานต่อไปได้ นอกจากได้ทำอะไรที่รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต ยังได้ฝึกบริหารส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งมือ ขา สมอง ความจำ ความสร้างสรรค์อีกด้วยค่ะ ประกอบกับในปีพ.ศ. 2565 นี้ประเทศไทยเองก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ดังนั้นการหากิจกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกท่านได้ ก็น่าจะลองดูสักตั้งนะคะ

?

ก่อนจะถึงวันผู้สูงอายุ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกบ้านที่มีผู้สูงอายุ และขอให้มีกิจกรรมที่ทำแล้วสัมผัสได้ถึงความสุขแสนสามัญกันทุกคนเลยนะคะ
?คุณ Misao Kuwata นักทำซาซะโมจิที่อยากสร้างความสุขให้ผู้คน
?คุณ Setsu Kimura กับงานศิลปะจากกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใม่ใช้แล้ว
?คุณ Meganenooo ผู้สร้างสรรค์เมนูอาหารเหมือนจริงมากชวนท้องร้อง
?คุณ Chiako Yamamoto ปรมาจารย์บอนไซผู้เป็นที่เคารพนับถือของญี่ปุ่น

คุณ Misao Kuwata นักทำซาซะโมจิชาวอาโอโมริที่อยากสร้างความสุขให้ผู้คน
.
ซาซะโมจิ เป็นโมจิสไตล์อาโอโมริ ที่ทำโดยการนวดและผสมแป้งข้าวเหนียวกับถั่วแดง แล้วนำไปนึ่ง ซาซาโมจิของคุณยายมิซาโอะนั้นมีความชุ่มฉ่ำ และมีความกลมกล่อมมาก ส่วนผสมสำคัญที่เธอใช้คือถั่วแดงที่ปลูกเองที่บ้าน ส่วนข้าวเหนียวที่ปลูกเองในพื้นที่จ.อาโอโมริ น้ำตาลและเกลือ และน้ำแร่แสนอร่อยซึ่งได้มาจากพื้นดินในการล้างหุงและนึ่งข้าว จากนั้นห่อเหล่าโมจิด้วยใบซาซะ (ไผ่ใบกว้าง) อย่างรวดเร็ว
.
แหล่งจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดของคุณมิซาโอะ ก็คือซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่น เธอจะขี่จักรยานสองครั้งต่อสัปดาห์ไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อส่งซาซะโมจิจำนวน 600 ชิ้น นอกเหนือจากนั้นเธอยังทำซาซะโมจิให้ผู้สูงอายุในชุมชนของเธอด้วย เฉลี่ยแล้วเธอทำเค้กข้าวมากกว่า 50,000 ชิ้นต่อปี จนมีคนเคยถามคุณมิซาโอะว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการทำซาซะโมจิ เธอเล่าว่าความคิดนี้มันเกิดขึ้นตอนอายุเกิน 60 ปี หลังจากไปเยี่ยมบ้านพักคนชรากับสมาคมสตรี เธอนำซาซะโมจิติดตัวไปด้วยเพื่อเสิร์ฟให้กับผู้สูงอายุ ในเวลานั้นเองหลังจากที่เหล่าผู้สูงอายุได้ชิมซาซะโมจิที่เธอทำ น้ำตาของพวกเขาก็ไหลออกมา เพราะเธอทำให้เหล่าสูงอายุที่นั่นมีความสุข หลังจากนั้นเธอจึงพยายามทำขนมพื้นบ้านที่สมบูรณ์แบบต่อไป และเป็นซาซะโมจิที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ กินแล้วจะไม่สำลัก
.
คุณมิซาโอะ ในวัย 75 ปีได้สร้างโรงทำซาซะโมจิ ของตัวเองขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจำนวนมากพร้อมกับที่เธอก็ไม่ลังเลที่จะสอนเทคนิคการทำซาซะโมจิให้กับเหล่านักเรียนมัธยมปลายในเมือง หรือเหล่าผู้หญิงในละแวกบ้าน เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมอาหารอันล้ำค่าของเมืองโกโชกาวาระ จ.อาโอโมริบ้านเกิดอันเป็นที่รักของเธอนั่นเอง และปัจจุบันคุณยายอายุ 94 แล้วค่ะ
.
คุณยายมิซาโอะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ที่ช่อง NHK ด้วยค่ะ
www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/4003142/

“เธอจึงพยายามทำขนมพื้นบ้านที่สมบูรณ์แบบต่อไป และเป็นซาซะโมจิที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ กินแล้วจะไม่สำลัก”

งานศิลปะจากกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใม่ใช้แล้วของคุณยาย Setsu Kimura วัย 92 ปี
.
คุณยายเซทสึ ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะจากสิ่งเหลือใช้รอบตัวอีกครั้ง พอเห็นภาพกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ถูกฉีกเป็นชิ้นส่วนเล็กใหญ่ สีสันที่เลือกใช้ในงาน แปะกาว จนสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพต่างๆ ก็อดที่จะอ่านข้อมูลอัพเดทของคุณยายตอนนี้ไม่ได้
.
คุณยายเซทสึ ที่ปัจจุบันวัย 92 ปี ชาวจ.นารา เธอสร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านี้มาครบ 1 ปีแล้ว งานที่วันหนึ่ง เธอเคยบอกลูกหลานว่าเธอทำไม่ได้หรอก เธอไม่ชอบวาดรูปหรืองานศิลปะเอาเสียเลย แต่เพราะแรงยุจากคนในครอบครัวเธอก็สร้างผลงานออกมาเป็นหนังสือภาพรวมเล่มชื่อ “90歳セツの新聞ちぎり絵” แถมยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเธอไปทั่วประเทศ และเธอก็ผลิตผลงานปะแปะจำนวนนับไม่ถ้วนอออกมา แน่นอนว่าทุกภาพล้วนสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่พบเห็น และต่อยอดให้เรามีแรงบันดาลใจขึ้นมากองโตเลย

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า อายุไม่มีผลต่อการสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นงานในรูปแบบไหนก็ตาม การที่คุณยายหยิบจับสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน มาเนรมิตเป็นภาพที่เกิดจากการฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์เล่มแล้วเล่มเล่า เลือกสีสันที่เหมาะสมกับชิ้นงาน แล้วบรรจงร้อยเรียงจนเกิดเป็นรูปภาพอย่างใจเย็น สำหรับคนวัย 91 ปี ที่ได้มีชีวิตที่สนุกสนานและสร้างสรรค์นั้น… เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้คนๆ หนึ่งได้รู้ว่าชีวิตบั้นปลายมันมีความหมาย และได้ค้นพบคุณค่าของตัวเอง

หลังจากที่สูญเสียคุณตา ผู้ซึ่งเป็นคู่ชีวิตเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2018 สิ่งที่คุณตาบอกไว้ก่อนจากไปก็คือ “ไม่ว่าอายุจะมากขึ้นเท่าใดก็อย่าหยุดที่จะเรียนรู้นะ” ทุกวันนี้หลังจากที่คุณหลานนำภาพของคุณยายไปโพสต์ในทวิตเตอร์ก็ทำให้มีคนสนใจผลงานของคุณยายเซทสึเป็นจำนวนมาก สิ่งที่คุณยายทำนั้นเปรียบเสมือน “หน้าในประวัติศาสตร์ชีวิต” บทหนึ่ง ที่คุณยายยังคงมีความสุขและก้มหน้าก้มตาผลิตผลงานศิลปะจากกระดาษหนังสือพิมพ์เหล่านี้ต่อไป
.
หนังสือ “90歳セツの新聞ちぎり絵”
ราคา 1,800 เยน (ยังไม่รวมภาษี)
สำนักพิมพ์ Satoyamasha
https://www.facebook.com/satoyamasha
.
ตามไปให้กำลังใจคุณยายเซทสึได้จากที่นี่
https://twitter.com/setsu0107

“ทุกภาพล้วนสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่พบเห็นและต่อยอดให้มีแรงบันดาลใจขึ้นมา”

คุณตาวัย 75 ปี ชาวญี่ปุ่น ผู้สร้างสรรค์เมนูอาหารเหมือนจริงมากชวนท้องร้อง
.
คุณตา Meganenooo เป็นเจ้าของผลงานเมนูอร่อยที่คัดสรรจากกระดาษวาชิเหล่านี้ โดยคุณตาได้ทำการเนรมิตเมนูอาหารแสนอร่อยจากกระดาษวาชิออกมาเป็นงานอดิเรกนั่นเองค่ะ

เห็นรูปแล้วต้องทึ่ง แค่ฝีไม้ลายมือของคนที่ชื่นชอบงานคราฟท์ก็ยังไม่พอ ต้องอาศัยเรื่องของจินตนาการ มาประกอบกันด้วย เพราะการทำงานกระดาษญี่ปุ่นแบบนี้ การเลือกสีสัน ความใจเย็น ค่อยๆ ประดิษฐ์ประดอยออกมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วคุณตาก็อายุ 75 ปีแล้วด้วย แต่ก็ยังมีพลังในการสร้างสรรค์งานทำมือแบบนี้ออกมาให้คนทั้งโลกร้องว้าวกันเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้คุณตาทำออกมาทั้งหมด 200 ผลงานแล้วด้วยนะ แล้วความน่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ผลงานทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมโดยลูกชายของคุณตาที่บอกว่า “เขาอยากให้คุณพ่อได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีความสุข”
.
ลูกๆ อย่างเราอ่านแล้วใจพอง สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นทีม Support ให้พ่อและแม่ของเราได้กินอิ่มนอนหลับ และทำในสิ่งที่ท่านมีความสุขใช่ไหมล่ะคะ และที่สำคัญเลยเรื่องของอายุไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์เรื่องสนุกออกมา ดูแล้วได้แรงบันดาลใจยามเดินเหินไปเที่ยวไหนไม่ไหว การได้ทำงานศิลปะสนุกๆ ก็เป็นเรื่องน่าท้าทายดีเหมือนกันค่ะ
.
เข้าไปดูผลงานของคุณตา Meganenooo ได้ที่นี่
https://twitter.com/meganenooo

“อายุไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์เรื่องสนุก”

คุณ Chiako Yamamoto ปรมาจารย์บอนไซผู้เป็นที่เคารพนับถือของญี่ปุ่น
.
เมื่อมีใครสักคนเอ่ยถามว่า ถ้าหากคุณจะทิ้งมรดกไว้เบื้องหลังสักอย่างหนึ่ง คุณชิเอโกะจะทิ้งอะไรไว้ เธอตอบว่าสิ่งที่สวยงามที่อยากส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป คือต้นไม้ขนาดเล็กที่สมบูรณ์แบบไงล่ะ? เรื่องราวของคุณชิเอโกะต่อไปนี้ ทำให้เราอยากแนะนำเธอและงานที่เธอทำให้คุณได้รู้จัก

การปลูกบอนไซ เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง และมันทำให้เราเชื่อมต่อกับโลกในเวลาหลายร้อยปีได้อีกด้วย ห้วงเวลาที่บอนไซมันเลื้อยผ่านนิ้วของเรา กิ่งก้านของมันต้องถูกจับอย่างระมัดระวัง พร้อมการดูแลอย่างพิถีพิถันเพื่อสร้างต้นไม้ที่สมบูรณ์แบบ และมันเป็นอย่างนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว นั่นคือความหมายของมรดกที่เธอได้รับมา และจะทำการส่งต่อไป

หัวใจของการปลูกบอนไซคือความเอาใจใส่ ที่ต่อยอดมาจากคนที่ดูแลมาก่อน มันทำการเชื่อมโยงเรากับชีวิตผู้คน บอนไซที่มีค่าที่สุดของเธอถูกเก็บมาจากภูเขาโดยปู่ของเธอและมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว! ดังนั้นการดูแลต้นไม้จิ๋วเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการเชื่อมโยงกับอดีต แต่ยังเชื่อมโยงและส่งต่อเรื่องราวในอนาคตของเธออีกด้วย

ปัจจุบันคุณชิเอโกะ ดูแลสวนบอนไซชื่อว่า “Shouzan-en” ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคเมจิ โดยเริ่มแรกเป็นผู้ขายพันธุ์ไม้คลาสสิก เช่นกล้วยไม้มาก่อน แล้วความนิยมในบอนไซก็ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นในเมืองนี้ ในเวลานั้นบอนไซเป็นงานศิลปะที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการเติบโต และบรรพบุรุษของคุณชิเอโกะ ก็สามารถสร้างบ้านจากการขายบอนไซสนขาวญี่ปุ่นเพียงต้นเดียว จนวันเวลาผ่านไปในปัจจุบันนี้ “Shouzan-en” ได้เข้าสู่รุ่นที่สี่แล้ว และยังคงปลูกบอนไซในพื้นที่ของเมืองซูสากะ ในจ.นากาโนะที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา และวิวทิวทัศน์ตามฤดูกาลที่สวยงาม และมีเวิร์คช็อปเรื่องการปลูกบอนไซให้กับผู้ที่สนใจด้วย

ติดตามคุณชิเอโกะตอนให้สัมภาษณ์กับทาง BCC EARTH ได้จากช่องทางนี้ค่ะ
https://youtu.be/PEGevD5jd64

“การปลูกบอนไซ เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง และมันทำให้เราเชื่อมต่อกับโลกในเวลาหลายร้อยปีได้”

อดีตบรรณาธิการผู้รับใช้ถ้อยคำมาตลอดหลายสิบปี ที่ยังคงมุ่งมั่นจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนผ่านเพจชื่อ Japan Brochure ปรารถนาว่าจะได้สนุกไปกับกลุ่มคนที่ชอบโบรชัวร์สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งมันได้พาเรามารู้จัก และออกเดินทางทำในสิ่งที่เราชอบไปด้วยกันไม่รู้จบ?